การเขียนบทความทางวิชาการ
บทความทางวิชาการ เป็นเอกสารทางวิชาการประเภทหนึ่งซึ่งทบวงมหาวิทยาลัย ได้ให้คำจำกัดความเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการไว้ว่า “หมายถึงเอกสารซึ่งเรียบเรียงจากผลงานทางวิชาการของตนเอง หรือของผู้อื่นในลักษณะที่เป็นการวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือเสนอแนวความคิดใหม่ๆ จากพื้นฐานทางวิชาการนั้นๆ” (ทบวงมหาวิทยาลัย , เอกสารอัดสำเนา) จากความหมายข้างต้นจึงอาจกล่าวได้ว่า บทความทางวิชาการมีวัตถุประสงค์ในการนำเสนอความรู้ความคิดใหม่ๆ รวมทั้งประสบการณ์ของผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ บนพื้นฐานของวิชาการในเรื่องนั้นๆ หรืออาจจะเป็นการแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ วิชาการในเรื่องนั้นๆ เพื่อนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ หรือเพื่อตั้งคำถามหรือประเด็นใหม่ๆ ที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าในเรื่องนั้นต่อไป บทความทางวิชาการเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเผยแพร่ความรู้ ความคิดและประสบการณ์ของสำนักวิชาการออกสู่วงวิชาการและสาธารณชน ซึ่งช่วยให้นักวิชาการได้ทราบว่าความคิดและความรู้ใหม่ๆ ที่ตนได้พัฒนาขึ้นนั้นได้รับการยอมรับหรือไม่ยอมรับ หรือมีจุดอ่อน จุดเด่นประการใด ความรู้และความคิดเหล่านี้ควรจะได้มาจากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ วิจารณ์มาอย่างดีแล้วจนกระทั่งเกิดแนวคิดใหม่ๆ ต่อเนื่องออกไป ในทางที่จะสร้างสรรค์วิชาการเรื่องนั้นๆ ให้งอกงามต่อไปอีก บทความทางวิชาการที่ดี ควรมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านได้แนวคิดแนวทางในการนำความคิดนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบหนึ่ง หรือช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดการพัฒนาความคิดในเรื่องนั้นๆ ต่อไป
ลักษณะสำคัญของบทความทางวิชาการ
จากการอภิปรายข้างต้น บทความทางวิชาการจึงควรมีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้
1. มีการนำเสนอความรู้ ความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่เชื่อถือได้ในเรื่องนั้นๆ โดยมีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิง
2. มีการวิเคราะห์ วิจารณ์ ให้ผู้อ่านเห็นประเด็นสำคัญอันเป็นสาระประโยชน์ที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอแก่ผู้อ่าน ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัว หรือประสบการณ์และผลงานของผู้อื่นมาใช้
3. มีการเรียบเรียงเนื้อหาสาระอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างในความรู้ความคิดที่นำเสนอ
4. มีการอ้างอิงทางวิชาการและให้แหล่งอ้างอิงทางวิชาการอย่างถูกต้อง เหมาะสมตามหลักวิชาการ และจรรยาบรรณของนักวิชาการ
5. มีการอภิปรายให้แนวคิด แนวทางในการนำความรู้ ความคิดที่นำเสนอไปใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือมีประเด็นใหม่ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความต้องการสืบเสาะหาความรู้หรือพัฒนาความคิดในประเด็นนั้นๆ ต่อไป
ส่วนประกอบของบทความทางวิชาการ
โดยทั่วไป บทความทางวิชาการ ควรมีส่วนประกอบที่สำคัญๆ ดังนี้
1. ส่วนนำ
ส่วนนำจะเป็นส่วนที่ผู้เขียนจูงใจให้ผู้อ่านเกิดความสนใจในเรื่องนั้นๆ ซึ่งสามารถใช้วิธีการและเทคนิคต่างๆ ตามแต่ผู้เขียนจะเห็นสมควร เช่น อาจใช้ภาษาที่กระตุ้น จูงใจผู้อ่านหรือยกปัญหาที่กำลังเป็นที่สนใจขณะนั้นขึ้นมาอภิปราย หรือตั้งประเด็นคำถามหรือปัญหาที่ท้าทายความคิดของผู้อ่านหรืออาจจะกล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับจากการอ่าน เป็นต้น นอกจากจะเป็นส่วนที่ใช้จูงใจผู้อ่านแล้ว ส่วนนำเป็นส่วนที่ผู้เขียนสามารถกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนั้น หรือให้คำชี้แจงที่มาของการเขียนบทความนั้น ๆ รวมทั้งขอบเขตของบทความนั้น เพื่อช่วยให้ผู้อ่านไม่คาดหวังเกินขอบเขตที่กำหนด นอกจากนั้นผู้เขียนอาจใช้ส่วนนำนี้ในการปูพื้นฐานที่จะเป็นในการอ่านเรื่องนั้นให้แก่ผู้อ่าน หรือให้กรอบแนวคิดที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาสาระที่นำเสนอต่อไป
2. ส่วนสาระสำคัญของเรื่อง
ถัดจากส่วนนำก็จะถึงส่วนที่เป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระสำคัญของเรื่องซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนควรคำนึงถึงประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้
2.1 การจัดลำดับเนื้อหาสาระ ผู้เขียนควรมีการวางแผนจัดโครงสร้างของเนื้อหาสาระที่จะนำเสนอ และจัดลำดับเนื้อหาสาระให้เหมาะสมตามธรรมชาติของเนื้อหาสาระนั้น การนำเสนอเนื้อหาสาระควรมีความต่อเนื่องกัน เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสาระนั้นได้โดยง่าย
2.2 การเรียบเรียงเนื้อหา ในส่วนนี้ต้องอาศัยความสามารถของผู้เขียนในหลายด้านนอกเหนือจากความเข้าใจในเนื้อหาสาระ เช่น ด้านภาษา ด้านสไตล์การเขียน ด้านวิธีการนำเสนอเป็นต้น
2.2.1 ด้านการใช้ภาษา การเขียนบทความทางวิชาการ จะต้องใช้คำในภาษาไทยหากคำไทยนั้นยังไม่เป็นที่เผยแพร่หลาย ควรใส่คำภาษาต่างประเทศไว้ในวงเล็บ ในกรณีที่ไม่สามารถหาคำไทยได้ จะเป็นต้องทับศัพท์ก็ควรเขียนคำนั้นให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของราชบัณฑิตสถาน ไม่ควรเขียนภาษาไทยและต่างประเทศปะปนกันในลักษณะที่เรียกว่า “ไทยคำ อังกฤษคำ” เพราะจะทำให้งานเขียนนั้นมีลักษณะของความเป็นทางการ (formal) ลดลง ผู้เขียนบทความทางวิชาการ จำเป็นต้องพิถีพิถันในเรื่องการเขียนตัวสะกดการันต์ต่างๆ ให้ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และควรตรวจทานงานของตนไม่ให้ผิดพลาด เพราะงานนั้นจะเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการต่อไป
2.2.2 ด้านสไตล์การเขียน ผู้เขียนแต่ละคนย่อมมีสไตล์การเขียนของตนซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์และเป็นเสรีภาพของผู้เขียน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้เขียนจะใช้สไตล์อะไร สิ่งที่ควรคำนึงก็คือ ผู้เขียนจะต้องเขียนอธิบายเรื่องนั้นๆ ให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างมากที่สุด ซึ่งอาจต้องใช้เทคนิคต่างๆ ที่
จำเป็น เช่น การจัดลำดับหัวข้อ การยกตัวอย่างที่เหมาะสม การใช้ภาษาที่กระชับชัดเจน และเหมาะสมกับผู้อ่าน เป็นต้น
2.2.3 ด้านวิธีการนำเสนอ การนำเสนอเนื้อหาสาระให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายและได้อย่างรวดเร็วนั้น จำเป็นต้องใช้เทคนิคต่างๆ ในการนำเสนอเข้าช่วย เช่น การใช้สื่อประเภทภาพ แผนภูมิ ตาราง กราฟ เป็นต้น ผู้เขียนควรมีการนำเสนอสื่อต่างๆ นี้อย่างเหมาะสม และถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การเขียนชื่อตาราง การให้หัวข้อต่างๆ ในตาราง เป็นต้น
2.3 การวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ และการนำเสนอความคิดของผู้เขียน บทความที่ดี ควรมีการนำเสนอความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งอาจออกมาในลักษณะของการวิเคราะห์ วิจารณ์ ข้อมูล เนื้อหาสาระ ให้เป็นประเด็นที่เป็นส่วนของการริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้เขียน ซึ่งอาจจะนำเสนอไปพร้อมๆ กับการนำเสนอเนื้อหาสาระ หรืออาจจะนำเสนอก่อนการนำเสนอข้อมูลหรือเนื้อหาสาระก็ได้ แล้วแต่สไตล์การเขียนของผู้เขียน หรือความเหมาะสมกับลักษณะเนื้อหาของเรื่องนั้นๆ
3. ส่วนสรุป
บทความทางวิชาการที่ดีควรมีการสรุปประเด็นสำคัญๆ ของบทความนั้นๆ ซึ่งอาจทำในลักษณะที่เป็นการย่อ คือการเลือกเก็บประเด็นสำคัญๆ ของบทความนั้นๆ มาเขียนรวมกันไว้อย่างสั้นๆ ท้ายบท หรือ อาจใช้วิธีการบอกผลลัพธ์ว่า สิ่งที่กล่าวมามีความสำคัญอย่างไร สามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง หรือจะทำให้เกิดอะไรต่อไป (ปรีชา ช้างขวัญยืน และคณะ . 2539 : 14 ) หรืออาจใช้วิธีการตั้งคำถามหรือให้ประเด็นทิ้งท้ายกระตุ้นให้ผู้อ่านไปสืบเสาะแสวงหาความรู้ หรือคิดค้นพัฒนาเรื่องนั้นต่อไป งานเขียนที่ดีควรมีการสรุปในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเสมอ
4. ส่วนอ้างอิง
เนื่องจากบทความทางวิชาการ เป็นงานที่เขียนขึ้นบนพื้นฐานของวิชาการที่ได้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัยกันมาแล้ว และการวิเคราะห์ วิจารณ์อาจมีการเชื่อมโยงกับผลงานของผู้อื่นจึงจำเป็นต้องมีการอ้างอิงเมื่อนำข้อความหรือผลงานของผู้อื่นมาใช้ โดยการระบุให้ชัดเจนว่าเป็นงานของใคร ทำเมื่อไร และนำมาจากไหน เป็นการให้เกียรติเจ้าของงาน และประกาศให้ผู้อ่านรับรู้ว่า ส่วนนั้นไม่ใช่ความคิดของผู้อื่น รวมทั้งเป็นการให้หลักฐานแก่ผู้อ่าน ให้ผู้อ่านสามารถไปสืบเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม หรือติดตามตรวจสอบหลักฐานได้
โดยทั่วไป การอ้างอิงทำได้หลายแบบที่นิยมกันก็แทรกปนไปในเนื้อหา การอ้างอิงแบบลงเชิงอรรถ และการทำบรรณานุกรม
4.1 การอ้างอิงแบบแทรกปนไปในเนื้อหา มี 2 ระบบ คือ
4.1.1 ระบบนามปี เป็นการอ้างอิงโดยลงชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ และเลขหน้าของเอกสารที่อ้างอิง ตัวอย่างเช่น
“กิจการพิมพ์ในเมืองไทย เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2371 (สุภาพรรณ บุญสะอาด , 2517 : 38)”
4.1.2 ระบบหมายเลข ใช้วิธีระบุหมายเลขสำคัญ เอกสารอ้างอิงที่เรื่องลำดับไว้ในบรรณานุกรม และบอกเลขหน้าของเอกสารที่นำมาอ้างอิง เช่น
“การพิมพ์หนังสือเริ่มขึ้นในประเทศจีน ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 105 และมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ (2:186)”
4.2 การอ้างอิงแบบลงเชิงอรรถ มีหลายแบบ เช่น เป็นเชิงอรรถอ้างอิงซึ่งทำในรูปของข้อความที่แยกไว้ท้ายหน้า โดยลงชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์ และเลขหน้า ในบางกรณีอาจรวมไว้ท้ายบทก็ได้ นอกจากเชิงอรรถอ้างอิงแล้ว ยังมีเชิงอรรถเสริมความหรือเชิงอรรถอธิบาย เพื่อให้คำอธิบายเพิ่มเติม และเชิงอรรถโยง ซึ่งใช้บอกแหล่งความรู้ที่ผู้อ่านจะหาได้จากส่วนอื่นของเรื่องที่เขียนนั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องนำข้อมูลซึ่งเขียนแล้วมากล่าวซ้ำอีก นอกจากนั้น การอ้างซึ่งมีลักษณะเป็นการอิง คือไม่ได้นำผลงานส่วนใดส่วนหนึ่งมากล่าวอ้างโดยตรง แต่เป็นการนำความคิดหรือข้อมูลของเขามาเล่าก็ต้องอ้างชื่อเจ้าของผลงาน และบอกที่มาไว้ในบรรณานุกรม (ปรีชา ช้างขวัญยืนและคณะ , 2539:76